วันอาทิตย์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2553

พื้นฐานเกี่ยวกับนาฏศิลป์ไทย

๑.๑   ความหมายและที่มาของนาฏศิลป์
- ความหมายของนาฏศิลป์
นาฏศิลป์ (นาด ตะ สิน)  เป็นคำที่มีรากศัพท์มาจาก ๒  คำ  คือ คำว่า นาฏ                หมายถึงการฟ้อนรำ  และคำว่า ศิลปะ หมายถึงสิ่งที่มนุษย์ดัดแปลงขึ้นมาจากธรรมชาติให้มีความวิจิตรงดงามขึ้น
ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช ๒๕๔๕  ได้ให้ความหมายของคำว่า นาฏศิลป์ไว้ว่า เป็นศิลปะแห่งการละครหรือฟ้อนรำ  นอกจากนี้ยังมีนักการศึกษา ท่านผู้รู้       ได้ให้นิยามความหมายของนาฏศิลป์แตกต่างกันออกไป  ดังนี้
/  ศิลปะการละครหรือการฟ้อนรำของไทย
/  ความช่ำชองในการละครฟ้อนรำ
/  การร้องรำทำเพลงให้เกิดความบันเทิงใจ
/  การฟ้อนรำที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นจากธรรมชาติด้วยความประณีตลึกซึ้ง
/  ศิลปะการฟ้อนรำหรือความรู้แบบแผนของการฟ้อนรำ เป็นสิ่งที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นด้วยความงามอย่างมีแบบแผน
ดังนั้นสรุปได้ว่า  นาฏศิลป์ไทย  หมายถึง  ศิลปะแห่งการแสดงท่าทางในการฟ้อนรำแบบไทยด้วยความประณีตงดงาม  เพื่อก่อให้เกิดความรื่นรมย์ อันโน้มน้าวอารมณ์และความรู้สึกให้       คล้อยตาม  ศิลปะประเภทนี้ต้องอาศัยการบรรเลงดนตรี และการขับร้องเข้าร่วมด้วย เพื่อส่งเสริมให้เกิดคุณค่ายิ่งขึ้น
-  ที่มาของนาฏศิลป์ไทย
นาฏศิลป์ไทยน่าจะมีที่มาจาก ๓ แหล่ง ดังนี้
(๑)     จากการละเล่นของชาวบ้านในท้องถิ่น 
หลังจากเสร็จสิ้นจากภารกิจในแต่ละวัน  ชาวบ้านก็จะหาเวลาว่างมาร่วมกันร้องรำทำเพลง  โดยมีการนำเอาดนตรีมาประกอบด้วย และตามนิสัยของคนไทยที่เป็นคนเจ้าบทเจ้ากลอน  ชอบ  ร้องเพลงโต้ตอบระหว่างชายกับหญิงจนเกิดเป็นพ่อเพลง  แม่เพลงขึ้น  โดยจะมีลูกคู่คอยร้องรับกันเป็นที่สนุกสนานครื้นเครง  จากการละเล่นของชาวบ้านดังกล่าวจึงเกิดเป็นนาฏศิลป์พื้นบ้านขึ้น
(๒)   จากการเซ่นสรวงบูชา
มนุษย์แต่โบราณมามีความเชื่อถือในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จึงมีการบูชา เซ่นสรวง เพื่อขอให้         สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประทานพรให้ตนสมปรารถนา หรือขอให้ขจัดปัดเป่าสิ่งที่ตนไม่ปรารถนาให้สิ้นไป การบูชาเซ่นสรวง มักถวายสิ่งที่ตนเห็นว่าดีหรือที่ตนพอใจ เช่น ข้าวปลาอาหาร ขนมหวาน ผลไม้ ดอกไม้ จนถึง การขับร้อง ฟ้อนรำ เพื่อให้สิ่งที่ตนเคารพบูชานั้นพอใจ  ต่อมามีการฟ้อนรำบำเรอกษัตริย์ด้วย ถือว่าเป็นสมมุติเทพที่ช่วยบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้  มีการฟ้อนรำรับขวัญขุนศึกนักรบ     ผู้กล้าหาญ ที่มีชัยในการสงครามปราบข้าศึกศัตรู  ต่อมาการฟ้อนรำก็คลายความศักดิ์สิทธิ์ลงมา กลายเป็นการฟ้อนรำเพื่อความบันเทิงของคนทั่วไป
           (๓)   การรับอารยธรรมของอินเดีย  
ประเทศอินเดียเป็นประเทศหนึ่งที่อารยธรรมเก่าแก่และเจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่โบราณกาล โดยเฉพาะการละครในอินเดียรุ่งเรืองมาก ประกอบกับชนชาติอินเดียนับถือและเชื่อมั่นในศาสนา พระผู้เป็นเจ้า ตลอดจนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ พระผู้เป็นเจ้าที่ชาวอินเดียนับถือ ได้แก่ พระอิศวร       (พระศิวะ)  พระวิศณุและพระพรหม ในบางยุคชาวอินเดียถือว่า พระอิศวรเป็นเทพเจ้าที่มีผู้เคารพนับถือมาก ยุคนี้ถือว่า พระอิศวรทรงเป็นนาฏราช (ราชาแห่งการร่ายรำ) มีประวัติทั้งในสวรรค์และในเมืองมนุษย์ ในการร่ายรำของพระอิศวรแต่ละครั้ง พระทรงให้พระภรตฤาษีเป็นผู้บันทึกท่ารำแล้วนำมาสั่งสอนแก่เหล่ามนุษย์ จนเป็นที่มาของตำนานการฟ้อนรำ และในการเรียนนาฏศิลป์ไทยผู้เรียนทุกคนจะต้องเข้าพิธีไหว้ครูก่อนซึ่งได้แก่ พระอิศวร พระนารายณ์ พระพรหม พระพิฆเณศวร พระพิราบ และพระภรตฤาษี อันเป็นครูทางนาฏศิลป์และเป็นเทพเจ้าของศาสนาพรหมณ์ – ฮินดู
๑.๒  องค์ประกอบของนาฏศิลป์ไทย
นาฏศิลป์ไทยจะหมายรวมไปถึงการร้องรำทำเพลง ฉะนั้นก่อนที่จะมาเป็นนาฏศิลป์ไทยได้ จะต้องประกอบด้วยประกอบสำคัญ ๆ ดังต่อไปนี้
 (๑)  การฟ้อนรำ
 การฟ้อนรำหรือลีลาท่ารำ เป็นท่าทางของการเยื้องกรายฟ้อนรำที่สวยงามโดยมีมนุษย์เป็น ผู้ประดิษฐ์ท่ารำเหล่านี้ให้ถูกต้องตามแบบแผน รวมทั้งบทบาทและลักษณะของตัวละคร ประเภทของการแสดง และการสื่อความหมายที่ชัดเจน
(๒)  จังหวะ
 เป็นส่วนย่อยของบทเพลงที่ดำเนินไปเป็นระยะและสม่ำเสมอ การฝึกหัดนาฏศิลป์ไทยจำเป็นต้องใช้จังหวะเป็นพื้นฐานในการฝึกหัด  เพราะจังหวะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติและมีอยู่ในตัวมนุษย์ทุกคน หากผู้เรียนมีทักษะทางการฟังจังหวะแล้ว ก็สามารถรำได้สวยงาม แต่ถ้าผู้เรียนไม่เข้าใจจังหวะก็จะทำให้รำไม่ถูกจังหวะ การรำก็จะไม่สวยงามและไม่ถูกต้อง
(๓)  เนื้อร้องและทำนองเพลง
การแสดงลีลาท่ารำแต่ละครั้งจะต้องสอดคล้องตามเนื้อร้อง และทำนองเพลง ทั้งนี้เพื่อบอกความหมายของท่ารำ ถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกในการแสดงได้ตามเนื้อเรื่อง ตลอดจนสามารถ   สื่อความหมายให้กับผู้ชมเข้าใจตรงกันได้ เช่น การแสดงอารมณ์เขินอาย ผู้แสดงจะใช้ฝ่ามือไว้       ที่แก้ม เป็นต้น

(๔)  การแต่งกาย
การแต่งกายเป็นการแสดงนาฏศิลป์ สามารถบ่งบอกถึงยศ ฐานะและบรรดาศักดิ์ของ         ผู้แสดงละครตัวนั้นๆ โดยเฉพาะการแสดงโขน การแต่งกายจะเปรียบเสมือนแทนสีกายของ         ตัวละคร เช่น เมื่อแสดงเป็นหนุมานผู้แสดงจะต้องแต่งกายด้วยชุดสีขาวมีลายปัก  สวมหัวลิงสีขาว ปากอ้า เป็นต้น
(๕)  การแต่งหน้า
 การแต่งหน้า เป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ทำให้ผู้แสดงสวยงาม และอำพรางข้อบกพร่องของใบหน้าของผู้แสดงได้  นอกจากนี้ยังสามารถใช้วิธีการแต่งหน้าเพื่อบอกวัย  บอกลักษณะเฉพาะของตัวละครได้ เช่น แต่งหน้าเป็นตัวตลก เป็นต้น
(๖)     เครื่องดนตรีที่บรรเลงประกอบการแสดง
 การแสดงนาฏศิลป์จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้เครื่องดนตรีบรรเลงประกอบการแสดงเพื่อช่วยเสริมให้การแสดงสมบูรณ์และสื่อความหมายได้ชัดเจน   ดังนั้นผู้แสดงจะต้องรำให้สอดคล้องตามเนื้อร้องและทำนองเพลง  และดนตรียังช่วยทำให้บรรยากาศในการแสดงสมจริงยิ่งขึ้น       
(๗)  อุปกรณ์การแสดงละคร
 การแสดงนาฏศิลป์ไทยบางชุด อาจต้องมีอุปกรณ์ประกอบการแสดง เช่น  ระบำตาลีกีปัต (ระบำพัด)  ฟ้อนร่ม เป็นต้น  ผู้แสดงต้องมีทักษะในการใช้อุปกรณ์ได้อย่างคล่องแคล่ว วางอยู่ในระดับที่ถูกต้อง สวยงาม

2 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ7 ตุลาคม 2553 เวลา 00:17

    ได้ความรู้เพิ่มขึ้น

    ตอบลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ7 ตุลาคม 2553 เวลา 00:22

    น่าจะใส่รูปภาพประกอบนะ

    ตอบลบ